050 ธรรมปัจเวกขณ์
ผู้ได้เกิดศรัทธา เกิดความเห็นและเชื่อ แม้จะเห็น เชื่อ เป็นความเห็น เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่เรายังไม่ได้ปฏิบัติ ยังไม่ได้ประพฤติ ยังไม่ได้เกิดสภาพธรรม ที่เราสัมผัสรส สัมผัสสภาวะ ที่ได้รองรับได้เกิดจริง เราก็จะยังไม่มีปัญญาที่แท้ หรือว่า ไม่มีตัวศรัทธาที่จะคงมั่น ศรัทธาที่จะคงมั่นก็คือ ศรัทธาที่จะต้องมีปัญญา เห็นแจ้งแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง มันเป็นความเข้าใจ ความมีจริง ทรงจริง ยืนยันจริง ศรัทธาที่มีปัญญา เป็นศรัทธา ที่ไม่งมงาย เป็นศรัทธาที่ไขความ เป็นศรัทธาที่บอก ความกระจะกระจ่าง มันเป็นศรัทธา ที่ยืนหยัดยืนยัน ไม่คลอนแคลนง่ายๆ เพราะงั้น เมื่อเราได้เห็น ได้รู้ ได้เข้าใจ ศรัทธาที่เป็น ตัวเพิ่งรู้ หรือ จะเรียกว่า ปัญญาแรก เรียกว่ารู้แรก หรือศรัทธาเชื่อถือแรกก็ได้ เชื่อถือแรก หรือ ปัญญาที่รู้แรก แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ จนมีผลเกิด ในสิ่งรับรสจริง ขอให้ปฏิบัติขึ้น เมื่อผู้ใดศรัทธาในอะไร มันจะเกิดความขมีขมัน เรียกว่าวิริยะ เกิดความเพียร เกิดความอยาก จะเป็นไป อยากจะได้ อยากจะมี ถ้ามันเกิดศรัทธา เพราะฉะนั้น จะมีพลัง จะมีอาการ เอาเรี่ยว เอาแรง เอาเวล่ำเวลา อะไรต่ออะไรเข้าไป ถ้ามันเกิดแรงพอ แต่ถ้าศรัทธาไม่แรง ศรัทธาเบาๆ อันอื่นที่มันมีกิเลส หรือว่า มีจุดที่ เราชอบมากกว่า มันก็จะแบ่งเวลา แบ่งกำลัง ไปทำสิ่งที่เราชอบมากกว่า โน้นก่อน แต่ถ้าเผื่อว่า ศรัทธาที่เราเห็น เป็นศรัทธาในสิ่งใด มันมีแรงมากกว่า มันก็จะมีวิริยะ หรือ มีเพียรอันนั้นมา มากกว่า เมื่อมีเพียรแล้ว มันก็จะเกิดผล เกิดสติ การใส่ใจ หรือการมีสติ ที่เกิดการรับรู้ พิจารณาเปิดกว้าง รับอยู่เสมอ พยายามที่จะรับ พยายามที่จะรู้ พยายามที่จะใส่ใจ มันจะเกิด เพราะงั้น ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็จะมีความรู้สึกตัวให้ดี ให้รับโดยมีปัญญา เข้าไปกรอง เข้าไปพยายามเลือกเฟ้น แล้วแบ่งเอา จัดสรรเอา เรียกว่า มีธัมมวิจัย จัดสรรเอา ถ้ามันเกินไปก็มี ถ้ามันน้อยไป หรือว่า มันผิดไปก็มี ก็เลือกให้ดี มันก็จะได้สิ่งที่เป็นเนื้อ เป็นแก่น เข้ามามากขึ้น ไอ้ที่เกิน เราก็พักไว้ก่อน ไม่เข้าฐาน ไม่เข้ากรรมฐาน แต่เป็นความรู้เสริม ก็ไม่เป็นไร ก็รู้ไว้ แต่อันใด เป็นความรู้ ที่มันตรงตัวเลย กำลังเดี๋ยวนี้ทีเดียว กำลังเหมาะกับ กรรมฐานของเรา กำลังเหมาะกับ ขนาดของเรา เรามีธัมมวิจัย เลือกเฟ้น เราก็มีวิริยะ เสริมหนุนอยู่ด้วย เพียรได้แล้ว ก็เอามาฝึกมาปรือ มาอบรมเข้า จนเป็นเนื้อเป็นตัว จนเป็นรูปเป็นร่าง ได้อาศัย ได้ลิ้มรส เราก็จะเกิดศรัทธาแท้ ศรัทธาที่มีปัญญา ศรัทธามีวิริยะ มีสติ แล้วจะเกิดสมาธิ คือจิตรับรส จิตจะเกิดตั้งมั่นเลยทีนี้ จะเกิดมีความแน่นอน มั่นคงขึ้น เห็นจริงเห็นจังขึ้น ตัวปัญญาก็ตามมา เป็นปัญญาที่เรียกว่า ปัญญาขั้นอธิปัญญา หรือเป็น ญาณทัสสนวิเศษ เป็นตัวที่เห็นแจ้ง ในสิ่งที่เราได้ เราเป็น เรามี หรือ มรรคผลที่เราเกิด ในอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา มีวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันจะเกิดส่งผล อย่างนี้เรื่อยไป เราปฏิบัติอย่าง โพชฌงค์ ๗ ก็เหมือนกัน มันก็จะเกิด มันก็ทำด้วยสติ แล้วก็มี โพชฌงค์ มีการธัมมวิจยะ มีการวิจัย แล้วก็มีวิริยะ เราก็จะได้ดีเพิ่มขึ้น เรียกว่า ปีติ ซอยลงไปอีก มีปีติ ได้ดี แล้วตัวดีตัวนั้นหนะ เป็นดียังไง มันดีดีใจ ดีดีใจหมายความว่า เราได้ดีแล้ว เราเกิดยังมีกิเลสซ้อน เรียกว่า ดีใจ เมื่อมีกิเลสซ้อน เราลดกิเลสลง กิเลสดีใจลดลง มันก็จะแน่นดี ตัวเนื้อที่ได้ดีขึ้น ตัวเนื้อที่ได้นั่นแหละ ทางธรรม ตัวที่ได้คือ การลดกิเลสลง ตัวกิเลสลดลงนั้น และไม่ใช่มีกิเลสใหม่ มีปีติ เป็นกิเลสใหม่ หลงยินดีรุนแรง และเราก็มีอะไร แรงเกินไป แล้วก็ไปหลงติด อยู่ในแรงๆ แรงๆมันก็ไม่สงบ เพราะว่าแรงๆนั้น ก็จะไปแรงๆ ปะทะกะไอ้โน่น ไอ้นี่ ก็ไม่ปัสสัทธิ เพราะจะสงบรวบ สงบทั้งกิเลสของเราลดลง ทั้งความเป็นอยู่ ทั้งความเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ ความจะอยากให้ผู้อื่นรู้ หรืออยากให้ผู้อื่น ได้เป็นบ้าง อะไรพวกนี้ ก็จะพอดีพอไป จะไม่เกิดว่า ได้สงบจิตจากกิเลส แต่เราก็เกิด มันไม่สงบ เพราะเราเอง ไปมีปีติแรง และเราไปทำอะไร ด้านนอก ที่เราไม่เข้าใจ มันจะเกิดทุกข์ซ้อน เมื่อทุกข์ซ้อน แล้วเราไม่รู้ แล้วเราจะเกิดว่า เอ๊ะ! นี่ท่า(ถ้า)ไม่ใช่ นี่มันเกิดว่า เรายิ่งได้ดี แล้วมันเกิดทุกข์ มันจะเวียนกลับ มันจะส่งผล ให้เราเวียนกลับ หรือส่งผล ให้เราว่า เอ๊ะ! อย่างงั้น ไม่เอาดีกว่า เพราะว่าได้แล้ว เอาอุตส่าห์ไปให้คนอื่นเขา ดีแล้ว ตัวเองก็เกิดทุกข์ แต่ก็ไม่รู้ว่า ทุกข์นั้น มันคนละตัว เหตุคนละเหตุ สมุทัยคนละสมุทัย ทุกข์ที่จริง เราลดแล้ว เราละกิเลส เราลดกิเลสอื่นมาแล้ว แต่ทีนี้พอได้ดีแล้ว ก็ไปเที่ยวได้แสดงมานะ แสดงความใหญ่ แล้วไปเกิดกระทบสัมผัส เกิดทุกข์มา แล้วก็เลยมาหลงผิด เพราะมันคนละเหตุ แล้วก็เลย ทำให้เรากลับไป ไปเสพกิเลสเก่าคืนอีก ก็มีเหมือนกัน เพราะงั้นตัวนี้แหละเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เหตุแห่งเหตุ ตัวที่แท้ แห่งมันเอง แต่เราไปกลับเข้าใจ คำกลางๆ ว่า ทุกข์ซึ่งมันเกิดได้ จากเหตุหลายๆเหตุ สมุทัยคนละตัว เราก็สับสน แล้วเราก็ไม่รู้ ตกลงก็วนเวียนไป วนเวียนมาได้ เพราะความไม่รู้แจ้งชัด อย่างนี้ก็เป็นได้ ขอให้เราได้จับให้แม่น สิ่งที่ได้แล้ว ได้ให้ชัดเจน เหตุที่ดับแล้วดับไป อย่าไปวนเวียน เอาใหม่อีก เอามาอีก ติดใหม่อีกได้นะ เพราะฉะนั้น ไปเสพเหตุเก่า ไปเสพปัจจัยเก่าอีก ติดได้อีก เพราะงั้น ถ้าเผื่อว่าเราไม่ ไม่แล้วเรารู้ชัด เราไม่ไปวนเวียนเสพอีก เรารู้ว่า เหตุที่มันทำให้ทุกข์ใหม่นั่น เป็นเพราะมานะ เราก็แก้มานะ เราก็จะสงบ เป็นปัสสัทธิ ที่สบายทั้งสองส่วน ทั้งสภาพที่ลดกิเลสส่วนตน ทั้งกิเลสส่วนที่เป็นมานะ ที่จะไปทำอะไร ให้พอดี พอเป็นพอไป เราก็จะเป็น ปัสสัทธิ เป็นสงบอย่างสองชั้น อันนี้ก็สั่งสมลง เป็นสมาธิ ได้ทั้งกิเลส เบื้องต่ำ เบื้องตัวตน ทั้งกิเลสเบื้อง ที่จะมันเฟ้อ ซึ่งมันไม่ใช่กิเลส เพื่อตัวเพื่อตน แต่กิเลสเพื่อผู้อื่น แต่ก็พาๆ ให้เป็นทุกข์ได้ ถือดี ถือตัว ถือตน ถือแก่ผู้อื่นอย่างนี้ พวกนี้เราก็จะต้องละเอียด เกิดสมาธิ ที่มั่นคงขึ้น สั่งสมไปเรื่อยๆ เป็นสมาธิ สัมโพชฌงค์ สุดท้าย มันก็จะเป็นเลิศ เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขาเป็นเลิศนั้น คือสภาพที่มันเยี่ยมยิ่ง สภาพที่เกิดได้ว่างโปร่ง สะอาดนะ เป็นอัตตาใหม่ เป็นอรหัตตา แต่เราจะไปติดอุเบกขา เป็นอัตตาอยู่ เป็น วิปัสสนูกิเลสอีกไม่ได้ คือเป็นได้ สิ่งที่เป็น วิปัสสนาแท้ เป็นความรู้ ด้วยปัญญา แต่เราก็ไม่รู้เท่าทัน สิ่งที่ได้ ว่าว่าง ว่าโปร่ง นี่ไปติดมันอีก หรือ ถือเป็นตัวเป็นตนอีก เราก็ไม่สมบูรณ์สุด เพราะฉะนั้น แม้แต่อุเบกขาสุดท้าย ที่มีลักษณะดีเยี่ยมถูกต้อง ตามหลักการ ของศาสนาพุทธ ก็ตาม ถ้าเราละล้างไม่ได้ ก็ยังเป็นเศษสุดท้ายอยู่ ถ้าเราละได้ เราก็จะสมบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ถึงอุเบกขา โพชฌงค์ ข้อที่ ๗ นี้แหละ เป็นฐาน ที่จะก้าวเดิน ไปสู่นิพพาน สูงสุด เพราะฉะนั้น เราได้ฐานนิพพานคืออุเบกขา เราก็จะต้องไม่ติด แม้แต่อุเบกขา หรือไม่ติด แม้แต่นิพพาน ทีเดียว นี่อธิบาย อย่างใช้หลักการไม่กี่ข้อ และก็อธิบายย่อๆ ก็คิดว่าเป็นการทบทวน เป็นการอธิบาย ที่มีนัยที่ลึกซ้อน ละเอียด อยู่ในนี้ พอสมควร ฟังดีๆ ถ้าไม่เข้าใจ ก็เอามาฟังใหม่ ไม่ได้อธิบายอะไรมากนัก แต่ว่ามันก็เป็นสภาพ ลึกซึ้งอยู่ ในหลักเกณฑ์ ที่สำคัญนี้ด้วย ก็ขอให้พวกเราได้ไตร่ตรองทบทวน และประพฤติปฏิบัติ ให้ถูกต้องลงตัว ตามทฤษฎีของ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ดั่งนี้ เราจะเกิดมีมรรคจริง ผลจริง และเราก็จะได้ไปสู่ ความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ถึงที่สุดได้ สาธุ. ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖
|